ประวัติคณะครุศาสตร์
มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์
พ.ศ. ๒๔๘๓ – พ.ศ. ๒๕๖๖
๘๓ ปี คณะครุศาสตร์
คณะครุศาสตร์เป็นคณะหนึ่งในมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ มีภารกิจหลักในการผลิตและพัฒนาครู
ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษา จึงนับได้ว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์
เริ่มต้นมาจากคณะครุศาสตร์
มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ เริ่มก่อตั้งครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2483 ชื่อว่า โรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตรจังหวัด เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรจังหวัด (ครู ว.)
พ.ศ. 2485 เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนสตรีฝึกหัดครูฉะเชิงเทรา เปิดสอนหลักสูตรครูประชาบาล (ป.ป.)
พ.ศ. 2493 เปิดสอนหลักสูตรครูมูล
พ.ศ. 2494 เปิดสอนหลักสูตรฝึกหัดครูประถม ซึ่งเป็นการเปิดสอนนักเรียนฝึกหัดครู ป.ป. หญิงเป็นครั้งแรกในส่วนภูมิภาค ในระยะนั้นกระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดให้จังหวัดฉะเชิงเทราเป็นสถานที่ทดลอง ปรับปรุงส่งเสริมการศึกษา โดยความร่วมมือขององค์การระหว่างประเทศ ได้แก่ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) องค์การบริหารความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งอนามัยโลก (WHO) และองค์การบริหารความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา (USOM)
พ.ศ. 2498 เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูฉะเชิงเทรา สังกัดกรมการฝึกหัดครู มีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตร เป็นหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ป.กศ.) แทนหลักสูตร ป.ป. และรับนักศึกษาชายเข้าเรียนด้วย ต่อมาวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2513 โรงเรียนฝึกหัดครูฉะเชิงเทรา ได้รับการสถาปนาเป็นวิทยาลัยครูฉะเชิงเทรา เปิดสอนหลักสูตร ประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นต้น และประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูง
พ.ศ. 2518 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ. 2518 ได้เปิดสอนนักศึกษาสาขาวิชาการศึกษาระดับปริญญาตรี ได้แบ่งส่วนราชการออกเป็นคณะวิชา ได้แก่ คณะวิชาครุศาสตร์ คณะวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ผู้บริหารคณะวิชา ได้แก่ หัวหน้าคณะวิชา โดยคณะวิชาครุศาสตร์ได้พัฒนามาจากหมวดวิชาการศึกษาเดิม แบ่งออกเป็นภาควิชาหลักสูตรและการสอน ภาควิชาพื้นฐานการศึกษา ภาควิชาจิตวิทยาและการแนะแนว ภาควิชาการอนุบาลศึกษา ภาควิชาทดสอบและวัดผลการศึกษา ภาควิชาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษา ต่อมา ภาควิชาพลศึกษาและนันทนา การได้ย้ายมาจากคณะวิชาวิทยาศาสตร์มาสังกัดคณะครุศาสตร์
พ.ศ. 2527 ได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู (ฉบับ 2) เปิดสอนสาขาวิชาต่าง ๆ ระดับปริญญาตรี ได้แก่ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ (วท.บ.) สาขาวิชาศิลปศาสตร์ (ศศ.บ.) และสาชาวิชาการศึกษา (ค.บ.)
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามวิทยาลัยครู เป็นสถาบันราชภัฏตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 วิทยาลัยครูฉะเชิงเทราจึงได้เปลี่ยนเป็นสถาบันราชภัฏฉะเชิงเทรา และได้ปรับปรุงการบริหารงานในรูปแบบอุดมศึกษา เปลี่ยนชื่อคณะวิชาเป็นคณะ มีคณบดีเป็นผู้บริหารสูงสุด คณะวิชาครุศาสตร์จึงเปลี่ยนเป็นคณะครุศาสตร์
พ.ศ. 2542 ได้ปรับเปลี่ยนระบบการบริหารภายในคณะจากภาควิชา เป็นการบริหารวิชาการแบบโปรแกรมวิชา ในระยะแรกคณะครุศาสตร์มี 7 โปรแกรมวิชา และ 1 สาขาวิชา ได้แก่ โปรแกรมวิชาการศึกษาปฐมวัย โปรแกรมวิชาการประถมศึกษา โปรแกรมวิชาจิตวิทยาและการแนะแนว โปรแกรมวิชาบริหารการศึกษา โปรแกรมวิชาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษา โปรแกรมวิชาพลศึกษาและนันทนาการ และโปรแกรมวิชาธุรกิจศึกษา และสาขาวิชาทดสอบและการวิจัย
พ.ศ. 2545 สถาบันได้มีนโยบายให้สาขาวิชาการศึกษาทั้งหมดมาสังกัดคณะครุศาสตร์ จึงมีโปรแกรมวิชาเพิ่มอีก 6 โปรแกรมวิชา รวมเป็น 13 โปรแกรมวิชา 1 สาขาวิชา ดังนี้
1. โปรแกรมวิชาการศึกษาปฐมวัย
2. โปรแกรมวิชาการประถมศึกษา
3. โปรแกรมวิชาจิตวิทยาและการแนะแนว
4. โปรแกรมวิชาบริหารการศึกษา
5. โปรแกรมวิชาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษา
6. โปรแกรมวิชาพลศึกษาและนันทนาการ
7. โปรแกรมวิชาธุรกิจศึกษา
8. โปรแกรมวิชาภาษาอังกฤษ
9. โปรแกรมวิชาภาษาไทย
10. โปรแกรมวิชาสังคมศึกษา
11. โปรแกรมวิชาคณิตศาสตร์
12. โปรแกรมวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป
13. โปรแกรมวิชาคอมพิวเตอร์ศึกษา
14. สาขาวิชาทดสอบและการวิจัย
พ.ศ. 2547 ได้ปรับหลักสูตรการผลิตครูเป็นหลักสูตรพื้นฐานการศึกษา ครุศาสตร์บัณฑิต (หลักสูตร 5 ปี) เป็นการผลิตครูให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และ พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546
ปี พ.ศ. 2547 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 ทำให้คณะครุศาสตร์ เป็นคณะหนึ่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2547 เป็นต้นไป และต่อมาในปี พ.ศ. 2550 มหาวิทยาลัยฯ ได้มีนโยบายให้เปลี่ยนจากโปรแกรมมาเป็นสาขาวิชาแทน โดยแบ่งเป็น 10 สาขาวิชา กับ 4 กลุ่มวิชา ดังนี้
1. สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย
2. สาขาวิชาจิตวิทยาและการแนะแนว
3. สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษา
4. สาขาวิชาภาษาอังกฤษ
5. สาขาวิชาภาษาไทย
6. สาขาวิชาสังคมศึกษา
7. สาขาวิชาคณิตศาสตร์
8. สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป
9. สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ศึกษา
10. สาขาวิชาภาษาจีน
11. กลุ่มวิชาพื้นฐานการศึกษาและบริหารการศึกษา
12. กลุ่มวิชาทดสอบและวัดผลการศึกษา
13. กลุ่มวิชาหลักสูตรและการสอน
14. กลุ่มวิชาพลศึกษาและนันทนาการ